มายด์ลีน่าเครื่องประดับ

บทความ

ประวัติและอาณาเขตจังหวัดสตูล 1

14-01-2556 11:15:05น.

 

พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย บินอับดุลลาห์)

Satun ในอดีต
เมื่อก่อนสตูลเป็นตำบลหนึ่งของเมืองไทรบุรี เรียกว่า"มูเก็มสะโตย"คือตำบลกระท้อนประวัติความเป็นมาของสตูลจึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่กับเมืองไทรบุรีจนกระทั่งพ.ศ. 2452 สตูลถูกแยกจากไทรบุรี ตั้งเป็นหัวเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลภูเก็ตและในปี       พ.ศ.2475 หลังจากไทยเปลี่ยนแปลการปกครองเป็นระบอบประชาธิไตยได้ยกฐานะเมืองสตูลขึ้นเป็นจังหวัดชื่อจังหวัดสตูล
จากมูเก็มสะโตยเป็นเมืองสตูล
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้ามหาราชรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตนกูอับดุลละ มูการัมซะห์เจ้าเมืองไทรบุรีถึงแก่อนิจกรรมลง น้องชายชื่อตนกูฎียาอุดดีนได้เป็นเจ้าเมืองแทนตนกูฎียาอุดดินว่าการเมืองไทรบุรีเพียงสองปีก็ถึงแก่อนิจกรรมเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ผู้กำกับหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ได้นำตนกูปะแงรัญบุตรคนที่สองและตนกูปัศนู (บางกระแสเรียกบิสนู)บุตรคนที่สามของตนกูอับดุลละมูการัมซะห์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณกรุงเทพมหานครฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งตนกูปะแงรัญเป็นพระยารัตนสงครามภักดีศรีสุลต่าน มหะหมัดรัตนราชบดินทร์สุรินทวษา พระยาไทรบุรี และตั้งตนกูปัศนูเป็นพระยาอภัยนุราชตำแหน่งรายามูดา(ปลัดเมือง)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระยาไทรบุรี(ปะแงรัญ)ได้ทำความชอบครั้งสำคัญๆ 2 ครั้งครั้งแรกส่งกองทัพเรือประกอบด้วยกำลังพล 2,500 คนไปช่วยรบศึกพม่าที่ยกมาตีเมืองถลาง เมื่อปี พ.ศ.2352 และครั้งที่สองยกกองทัพเรือจำนวน 200 ลำ กำลังพล 5,000 คนไปตีเมืองแป-ระกลับมาเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง ด้วยความชอบ 2 ครั้งนี้ จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยาไทรบุรี
ต่อมาเจ้าพระยาไทรบุรี(ปะแงรัญ)เกิดความขัดแย้งกับพระยาอภัยนุราช(ปัศนู)เพราะพระยาอภัยนุราชขอเอาที่กัวลามูดาเป็นบ้านส่วย เจ้าพระยาไทรบุรีไม่ยอมจะยกที่อื่นให้ พระยาอภัยนุราชไม่ยอม ต่างก็ทำเรื่องราวร้องเรียนไปทางกรุงเทพฯพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีรับสั่งให้พระยาพัทลุง(ทองขาว)ออกไปไกล่เกลี่ยประนีประนอมแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระยาอภัยนุราชมาปกครองท้องที่สะโตยซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของเมืองไทรบุรี และตั้งตนกูอิบราเฮม (น้องคนที่สี่)เป็น รายามูดา (ปลัดเมือง)เรื่องราวจึงเรียบร้อยลงได้
พระยาอภัยนุราชปกครองท้องเที่ตำบลสะโตยประมาณสองปีก็ถึงแก่กรรมไม่ได้สร้างบ้านสร้างเมืองให้เป็นหลักแหล่ง หากแต่ไปๆ มาๆ ระหว่างไทรบุรีกับสะโตยทุกครั้งที่มาถึงสะโตยจะพักอยู่ใกล้ท่าเรือเท่านั้น ด้านการปกครองก็ไม่ได้เอาใจใส่ผลประโยชน์ทางภาษีอากรก็มอบให้คนจีนในท้องที่เป็นผู้ผูกขาดไปเก็บหลังจากพระยาอภัยนุราชถึงแก่กรรมแล้ว ผู้ใดจะปกครองท้องที่สะโตยต่อมาหาหลักฐานยืนยันไม่ได้
ระหว่าง พ.ศ.2358-2381 คือตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจดหมายเหตุและพงศาวดารไม่ได้กล่าวถึงท้องเที่ตำบลสะโตยในลักษณะของการจัดการปกครองอีกเลยมีกล่าวเฉพาะเมืองไทรบุรีว่าเกิดกบฏใหญ่ขึ้น 2 ครั้ง ได้แก่ กบฏตนกูเด็น พ.ศ.2373 และกบฏตนกูมหะหมัดสหัส พ.ศ.2381
การปราบกบฏตนกูมหะหมัดสหัส ในปีพ.ศ.2391 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด)ตำแหน่งจางวางพระคลังสินค้า เป็นแม่ทัพยกออกไปช่วยรบ
เมื่อพระศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษายกกองทัพไปถึงเมืองสงขลาทราบว่ากองทัพเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง ยกไปตีไทรบุรีคืนได้แล้วจึงได้จัการเมืองไทรบุรีให้เป็นที่เรียบร้อย โดยแบ่งแยกไทรบุรีออกเป็น 3 เมืองคือ
1.       ตำบลสะโตย ยกฐานะเป็นเมืองสตูลตั้งให้ตนกูมุฮำมัดอาเก็บ บุตรพระยาอภัยนุราช (ปัศนู)เป็นเจ้าเมือง
2.       ตำบลปลิส ยกฐานะเป็นเมืองปลิสตั้งให้ไซยิดฮูเซ็นเป็นเจ้าเมือง
3.       เมืองไทรบุรี ตั้งให้ตนกูอานุมเป็นเจ้าเมือง
ต่อมาปี พ.ศ.2384 เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัญ)ซึ่งหลบหนีราชภัยไปอยู่เมืองมะละกาตั้งแต่ปี พ.ศ.2364 ได้กลับมาไทรบุรีอีกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานอภัยโทษและตั้งให้เป็นเจ้าเมืองไทรบุรีดังเดิมส่วนตนกูอานุมเจ้าเมืองไทรบุรีขณะนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นเจ้าเมืองกูบังปาสูซึ่งยกฐานะขึ้นใหม่จากท้องที่ตำบลกูบังปาสูของไทรบุรี
เมืองสตูลเทวดาแห่งทะเลนครีสะโตยมำบังสังคารา
การที่พระยาพิพัฒน์รัตนโกษาได้จัดการปกครองเมืองไทรบุรีเสียใหม่ดังกล่าวแล้วเป็นเหตุให้ท้องที่ตำบลสะโตยได้รับการยกฐานะเป็นเมืองสตูลตั้งแต่บัดนั้นตนกูมูฮำมัดอาเก็บปกครองเมืองสตูลเป็นคนแรก ตั้งแต่พ.ศ.2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยนุราชชาติรายาภักดีศรีอินทรวิทยาหยาพระยาสตูล
พระยาอภัยราช (มุฮำหมัดอาเก็บ)ได้ปกครองเมืองสตูลด้วยความสามารถทำให้เมืองสตูลมีความเจริญรุ่งเรือง พ่อค้าวานิชจากเมืองต่างๆในแหลมมลายูและเมืองใกล้เคียงมาติดต่อค้าขาย โดยเฉพาะเมืองไทรบุรีและเมืองปีนังทั้งในเวลานั้นเมืองสตูลยังมีอำนาจครอบครองหมู่เกาะรังนกนางแอ่นในทะเลช่องแคบมะละกาตั้งแต่หน้าปากน้ำปลิสจนถึงเกาะพีพีหน้าเมืองพังงา สตูลจงได้รับขนานนามว่า "นครสโตยมำบังสังคารา" แปลว่า "เมืองสตูลเทวดาแห่งทะเล"
หลังจากปกครองเมืองสตูลมาได้ 37 ปี (พ.ศ.2382-2418)พระยาอภัยนุราชก็ได้รับพระกตุณาโปรดกล้าฯ เลี่อนยศเป็นพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ มหินทราธิรายานุวัติ ศรีสกลรัฐมหาปธานาธิการ ไพศาลสุนทรจริตสยามพิชิตภักดี จางวางเมืองสตูล และแต่งตั้งให้ตนกูอิสมาแอลเป็นเจ้าเมืองสตูลแทนมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอภัยนุราชชาติรายาภักดี ศรีอินทรวิยาหยาพระยาสตูลและโปรดเกล้าฯ ให้ตนกูอะหมัดเป็นพระอินทรวิชัย ตำแหน่งปลัดเมือง (รายามูดา)ส่วนตนกูฮำหมัดให้มีหน้าที่ปกครองดูแลเก็บผลประโยชน์จากหมู่เกาะรังนกนางแอ่นทั้งหมด
ต่อมาในปี พ.ศ.2423 มีสมาชิกอั้งยี่ส่วนหนึ่งบุกเข้ารุกรานปล้นสะดม ทำลายประตูวังจนเสียหายแม้ว่าฝ่ายบ้านเมืองจะสามารถปราบได้ในเวลาต่อมาแต่ก็เป็นสาเหตุให้เกิดความแตกร้าวระหว่างเจ้าเมืองกับปลัดเมืองผู้เป็นน้อง
พระอินทรวิชัย (อะหมัด)กับตนกูมะฮำมัดจึงได้ชักชวนเจ๊ะอาด ที่ปรึกษาคนสนิทพร้อมด้วยบริวารอพยพไปตั้งเมืองใหม่ที่ละงู และได้จัดแบ่งงานปกตรองไว้ดังนี้
1.       คดีลักเล็กโขมยน้อยหนี้สินและร้องทุกข์ ให้ขึ้นศาลว่าการเมืองละงู
2.       เรื่องการทำมาหากินและความสงบเรียบร้อยเป็นหน้าที่เจ้าตำบล (ปังฮูลู)เจ้าตำบลที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์มาก่อน คือดาโต๊ะอิสหากรายาเปอร์การ์มาแลลา
3.       คดีปล้นสะดม ฆ่าคนตายต้องส่งให้เจ้าเมืองสตูลตัดสิน
พระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล)เป็นเจ้าเมืองสตูลอยู่ 9 ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ.2427 ผู้ที่ได้เป็นเจ้าเมืองคนต่อมา คือตนกูอับดุลเราะห์มานซึ่งเป็นบุตรคนโตของตนกูอิสมาแอล ภายหลังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาอภัยนุราชชาติรายาภักดี ศรีอินทราวิยาหยา พระยาสตูลและตนกูมะฮำมัดปลัดเมืองก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระพิไสยสิทธิสงคราม"
เนื่องจากตนกูอับดุลเราะห์รามานไม่มีความเฉลียวฉลาดพอที่จะว่าราชการด้วยตนเองได้เจ้าเมืองไทรบุรีจึงขอให้พระอินทรวิชัย (อะหมัด)กับตนกูระฮำหมัดซึ่งอพยพไปอยู่ที่เมืองละงูกลับมาช่วยราชการที่เมืองสตูลโดยแต่งตั้งให้พระอินทรวิชัยเป็นกรมการเมืองสตูล ส่วนตนกูมฮำหมัดนั้นเป็นผู้พิพากษา (ฮากิม)ตนกูอับดุลเราะห์มานจึงปกครองบ้านเมืองโดยอาศัยกรมการเมืองและปลัดเมืองช่วยเหลือเป็นสำคัญ
พระยาอภัยนุราช(อับดุลเราะห์มาน)ปกครองเมืองสตูลอยู่ได้ 10 ปี เกิดโรคเส้นประสาทจิตใจฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ทางราชการเมืองไทรบุรีได้ตั้งกูเด็นบินกูแมะ (ต้นสกุลบินตำมะหงง)ข้าราชการฝ่ายปกครองที่มีความสามารถของเมืองไทรบุรีขณะนั้นให้มาเป็นผู้ช่วยว่าราชการเมืองสตูลในต้นปีพ.ศ.2438 กูเด็นบินกูแมะ ช่วยว่าราชการบ้านเมืองอยู่ได้ 3 ปี พระยาอภัยนุราช (อับดุลเราะห์มาน)ก็ถึงแก่กรรมลงเมือง พ.ศ.2440 และไม่มีบุตรสืบทายาทเจ้าเมืองไทรบุรีจึงสนับสนุนให้กูเด็นบินกูแมะว่าราชการไปพลางก่อนทำให้พระพิสัยสิทธิสงคราม(มฮำมัด)ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็นพระพิมลสัตยลักษณ์ค่อยห่างเหินจากการช่วยราชการจนหมดหน้าที่และหมดความสำคัญไป
ในปี พ.ศ.2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองไทรบุรีเมืองปลิสและเมืองสตูล เป็นมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลไทรบุรี โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาฤทธิสงครามภักดี เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิด)เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรีมีอำนาจตรวงตราบังคับบัญชาผู้ว่าราชการเมืองปลิศและเมืองสตูลสามารถจัดการบ้านเมืองตามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตทุกอย่างและให้ผู้ว่าราชการเมืองปลิส เมืองสตูลและศรีตวันกรมการหัวเมืองทั้งสองเมืองฟังบังคับบัญชาของเจ้าพระยาไทรบุรีในทางที่ของด้วยราชการทุกประการ
กูเด็นบินกูแมะบริหารราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสตูลอย่างเต็มความสามารถได้แบ่งส่วนราชการเสียใหม่ตามแบบอย่างของเมืองไทรบุรีราชการเมืองสตูลดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีชื่อเสียงเป็นที่ปรากฎกูเด็นบินกูแมะจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูลโดยสมบูรณ์ในปีพ.ศ.2443 ให้ลงนามในหนังสือราชการว่า "ตนกูบาฮะรุดดินบินกูแมะ"
ต่อมาตนกูบาฮะรุดดินได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นหลวงอินทรวิชัยพระอินทรวิชัยและพระยาอินทรวิชัยตามลำดับ การปกครองบ้านเมืองในสมัยนั้นนอกจากจะแบ่งส่วนราชการออกเป็นหลายฝ่ายแล้วยังจัดให้มีกำนัน (ปังฮุลูมูเก็ม)มีตำรวจมีทหารเกียรติยศ (แขกซิก)36 คน ข้าราชการแต่งเครื่องแบบใช้เสื้อนอกกระดุม 5 เม็ดทำด้วยโลหะมีอักษรเป็นภาษามลายูว่า "นครีสโตย"ใช้หมวกทรงกรมมีรูปดาวเดือนและมีอักษา "นครีสโตย" ด้วยสถานที่ราชการทุกแห่งเรียกว่า "ตำปัดเปอร์ยาอัน"
อย่างไรก็ตามการบริหารราชการของพระยาอินทรวิชัย (บาฮะรุดดิน)ได้ประสพความยุ่งยากอยู่บ้างเนื่องจากภาษาเป็นเหตุเดิมเคยใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ เมื่อเปลี่ยนมาใช้ภาษาไทยแทนก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ทุกแผนกการจึงต้องมีข้าราชการสองฝ่าย คือ ฝ่ายใช้ภาษามลายูและฝ่ายที่ใช้ภาษาไทย หนังสือราชการ ประกาศแจ้งความต้องเขียน 2 ภาษาข้าราชการที่รู้เฉพาะภาษามลายูรู้สึกว่าตนเองไม่มีงานทำจึงได้พากันลาออกไปเป็นส่วนมากอีกทั้งเกิดการขัดแย้งในนโยบายการปกครองระหว่างปลัดจังหวัดกับผู้ว่าราชการจังหวัด ทางราชการจึงส่งหลวงโกชาอิศหาก (ตุ๋ยบินอับดุลลาห์)มาเป็นปลัดจังหวัดแทนหลงโยธีฯ เมื่อปี พ.ศ.2455 ปัญหาต่างๆจึงลดลงและหมดไปในที่สุด
เมืองสตูลภายหลังสัญญาปักปันเขตแดน
ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพ.ศ.2451 รัฐบาลไทยถูกบีบคั้นทางการเมืองบางประการ จนต้องยอมทำสัญญายกดินแดนกลันตันตรังกานู รวมทั้งพื้นที่มณฑลไทรบุรีบางส่วนให้รัฐบาลอังกฤษเป็นผู้ปกครองตามหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงอังกฤษ ลงชื่อกันที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2452
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มณฑลไทรบุรีของไทยต้องเสียให้แก่รัฐบาลอังกฤษในบางส่วน คือเมืองไทรบุรีและเมืองปลิสและโดยเหตุที่หนังสือสัญญาว่าด้วยเขตแดนซึ่งติดท้ายสัญญานั้นกำหนดเส้นเขตแดนโดยถือสันเขาปันน้ำที่ตกระหว่างลำน้ำปลิส และลำน้ำปูยูในเขตเมืองสตูลเป็นเขตแดนเมืองสตูลจึงคงอยู่ในราชอาณาจักรไทย
เมื่อเมืองสตูลซึ่งเคยตกอยู่ในบังคับบัญชาของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรีคงเหลืออยู่เพียงเมืองเดียว จึงมีพระบรมราชโองการประกาศให้เมืองสตูลเป็นเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 6 สิงหาคมพ.ศ.2452
สมัยนั้นพระยารัษฏานุประดิษฐ์ (คอซิมบี๋ณ ระนอง)เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ท่านเดินทางมาตรวจราชการที่เมืองสตูลปีละ 2 ครั้ง ชอบพักค้างคืนที่บ้านฉลุง อ้างว่าในเมืองมีริ้นชุกชุมต่อมามีการสร้างบ้านพักรับรอง เรียกว่า "ที่พักเจ้าคุณเทศา" บริเวณทุ่งเฉลิมสุขพระยารัษฏานุประดิษฐ์ช่วยวางรากฐานการปกครอง การศึกษาแก่เมืองสตูลหลายประการผู้ที่เจริญรอยตามท่านคือ พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ผู้ว่าราชการเมืองสตูลต่อจากพระยาภูมินารถำกดี
พระยอินทรวิชัย (บาฮะรุดดิน)เป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูล ต่อมาจนถึงพ.ศ.2457 ก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้วฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นมหาอำมาตย์ตรีพระยาภูมินารถภักดีจังวางกำกับราชการเมืองสตูล และโปรดเกล้าฯ ให้พระโกชาอิศหากเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูลในปีเดียวกันต่อมาเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ในปี พ.ศ.2459 ว่าราชการเมืองสตูลจนถึง พ.ศ.2475 ก็เกษียณอายุราชการ
เมืองสตูลเป็นเมืองในเขตการปกครองของมณฑลภูเก็ตมาจนกระทั่งเมื่อทางราชการได้ดำเนินการสร้างทางหลวงแผ่นดินสายควนเนียง-สตูลเสร็จเรียบร้อยใช้เป็นทางคมนาคมได้แล้ว ทำให้การคมนาคมจากเมืองสตูลไปสงขลาอันเป็นที่ตั้งศาลารัฐบาลมณฑลนครศรีธรรมราชสะดวกดีกว่าการคมนาคมระหว่างสตูลกับภูเก็ตซึ่งต้องอาศัยการเดินทางโดยเรือเดินทะเลเป็นพื้นยามใดมีมรสุดก็เป็นอุปสรรคในการติดต่อประกอบกับเมืองสตูลเคยเป็นเมืองในบังคับบัญชาของมณฑลนครศรีธรรมราชมาก่อนดังนั้นในปีพ.ศ.2468 จึงได้มีพระบรมราชโองการโอนเมืองสตูลจากมณพลภูเก็ตมาอยู่ในบังคับบัญชาของมณฑลนครศรีธรรมราชอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อพ.ศ.2475 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2476 ซึ่งเปลี่ยนหลักการแบ่งเขตการปกครองใหม่โดยถือเขตจังหวัดเป็นเขตปกครองในส่วนภูมิภาคเป็นการยกเลิกระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลไปหมดทั่วประเทศด้วยตั้งแต่นั้นมาเมืองสตูลจึงเป็นจังหวัดที่ขึ้นตรงกับส่วนกลางเหมือนจังหวัดอื่นๆจนกระทั่งปัจจุบันนี้
จากหนังสืองานวัฒนธรรมสัมพันธ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.สตูล 4-6 สิงหาคม 2531
 
 

 สถานที่ท่องเที่ยว ท่องเที่ยว ท่องเที่ยว
   
ท่องเที่ยว